หลักการและเหตุผล

สหกิจศึกษา (Co-operative Education) คือ ระบบการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงาน ในสถานประกอบการอย่างเป็นระบบก่อนสำเร็จการศึกษา โดยที่นักศึกษาจะต้องปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ ที่ให้ความร่วมมือแบบเต็มเวลา เป็นเวลา 16 สัปดาห์ ทั้งนี้นักศึกษาจะไม่อยู่ในสถานะของนักศึกษาฝึกงาน แต่ว่านักศึกษาสหกิจศึกษาทุกคนจะเป็นเสมือนเจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานชั่วคราวในสถานประกอบการ และนักศึกษาสหกิจศึกษาอาจจะได้รับสวัสดิการ ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามความเหมาะสมจากสถานประกอบการ

การจัดการเรียน-การสอนแบบสหกิจศึกษา จึงเป็นระบบการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างเป็นระบบและมีระเบียบชัดเจน นักศึกษาที่เรียนสหกิจศึกษาทุกคนจะต้องแจ้งความประสงค์เรียนและกรอกใบสมัครที่คณะวิชา/สาขาวิชาที่ตนเองสังกัด ขณะเดียวกันนักศึกษาจะต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์และการคัดเลือกจากสถานประกอบการที่มีความประสงค์จะรับนักศึกษาเข้าไปปฏิบัติงาน หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยจะจัดส่งนักศึกษาเข้าไปปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากสถานประกอบการนั้น ๆ อย่างชัดเจน โดยนักศึกษาสามารถที่จะเรียนรู้และหาประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริง อันจะเป็นการฝึกการประยุกต์ใช้แนวคิด  ทฤษฎี  และเติมเต็มระหว่างความรู้ที่ได้รับจากการเรียนการสอนในห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยและการนำไปใช้ในชีวิตจริง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักศึกษา เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดแรงงานต้องการในที่สุด

มหาวิทยาลัยจัดให้มีกระบวนการคัดเลือกนักศึกษา  เตรียมความพร้อมนักศึกษาเพื่อสร้างความมั่นใจ  จัดปฐมนิเทศและฝึกอบรมให้นักศึกษาก่อนออกปฏิบัติงานจริง ตลอดจนการนิเทศงานเพื่อติดตามประเมินผลนักศึกษา  และจัดทำรายงานผลต่อมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือทุกฝ่าย จากการศึกษาผลดีของการเรียนในแบบของสหกิจศึกษา พบว่า นักศึกษาที่มีโอกาสไปทำงานในสถานประกอบการต่าง ๆ เมื่อกลับมาเรียนในห้องเรียน นักศึกษากลุ่มดังกล่าวยังมีความสนใจที่จะใฝ่หาความรู้มากขึ้นและมีผลการเรียนที่ดีขึ้น นอกจากนั้นนักศึกษายังมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้นในการทำงานร่วมกับผู้อื่น